ก่อนอื่น สวัสดีทุกท่านที่แวะเข้ามาอ่านกันนะครับ บล็อกนี้ไม่ได้เขียนมานานมาก ตั้งแต่เข้ามหาลัยฯ ก็เรียกว่าแทบจะปล่อยร้างกันเลยทีเดียว แต่ตอนนี้ผมได้กลับมาเริ่มสะสมซีดีเพลงอนิเมะโปเกมอน ก็อย่างที่เห็น เดี๋ยวนี้อนิเมะเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไปจากภาคเดิมเยอะมาก รวมถึงเพลงก็เปลี่ยนตามยุคสมัยเช่นเดียวกัน แต่เมื่อผมจะกลับไปเก็บสะสมแผ่นเพลงภาคแรก ๆ ซึ่งแน่นอนว่าสมัยนั้นไม่มี Digital Download เหมือนยุคปัจจุบันแน่ ๆ ทางเลือกเดียวก็คือซีดีครับ ในตอนนี้ผมจะยังไม่พูดถึงวิธีหาแผ่นพวกนี้ก็แล้วกัน แต่จะมาดูเครื่องมือที่ใช้ริป การริปเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำเพื่อเก็บไว้ในเครื่องไว้ยาว ๆ รวมถึงริปเพื่อฟังในอุปกรณ์ทั้งหลายกันครับ
วันนี้ผมนำตัวอย่างซีดี 4 แผ่น ประกอบไปด้วย
Doridori - Shoko Nakagawa [Limited Anime Edition],
Pokemon Symphonic Medley/GLORY DAY ~Kagayaku Sono Hi~,
High Touch/Ashita wa Kitto และ
Together/Kimi no Soba de ~Hikari no Thema~ [Regular Edition] ซึ่งแผ่นในรูปนี้บางแผ่น
ปกติ บางแผ่น
ลาย บางแผ่น
เสียในบางจุด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแผ่นสำรองนะครับ เพราะผมมีอีกแผ่นที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว แต่ผมจะมาทดสอบการอ่านในเครื่องคอมพิวเตอร์กันว่าจะอ่านข้อมูลได้แม่นยำและสมบูรณ์หรือไม่
|
ตัวอย่างซีดีที่นำมาใช้ริปในบทความนี้ |
ไดรฟ์ดีวีดีที่ผมใช้ในวันนี้คือ
HL-DT-ST GH24NSB0 ซึ่งอยู่ด้วยกันมา 5 ปีแล้วตั้งแต่ซื้อคอมเครื่องปัจจุบัน แต่ยังใช้งานได้ปกติดีครับ ระบบปฏิบัติการที่ใช้คือ Windows 10 Build ล่าสุด ณ เวลานี้ นั่นก็คือ 1809
|
ใส่แผ่นเข้าไปก่อน อันดับแรก |
|
อ่านได้ดีไม่มีปัญหา |
ขั้นแรก อ่านแผ่นเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และเก็บข้อมูลแบบ 1:1 ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
ในขั้นนี้หลัก ๆ ผมจะใช้โปรแกรม
Exact Audio Copy นะครับ เพราะมีค่าให้ตั้งได้เยอะมาก รองรับการแปลงไฟล์ที่ริปได้เป็นชนิด WAV หรือ FLAC รวมถึงสามารถเข้าถึงฐานข้อมูล CUETools DB, AccurateRip ได้ด้วย (เผื่อใครสงสัยว่ามันคืออะไร CUETools DB หรือ AccurateRip คือฐานข้อมูลที่รวมข้อมูลแฮชของซีดีเพลงไว้เยอะมาก ซึ่ง AccurateRip จะต้องปรับค่า Offset ตามไดรฟ์ที่ใช้งานเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ ซึ่งโปรแกรมจะปรับให้อัตโนมัติครับ ส่วน CUETools DB จะตรวจสอบได้โดยไม่ต้องปรับค่า Offset)
ในรูปเป็นแผ่น
High Touch ที่ดึงข้อมูลชื่อเพลงมาจาก MusicBrainz พร้อมปกผ่านปลั๊กอิน CUETools DB นั่นเองครับ หากเป็นแผ่นที่ค่อนข้างนิยมก็จะไม่ต้องลำบากมานั่งใส่ชื่อเพลงให้เสียเวลาครับ ดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลได้ทันที
|
หน้าตาโปรแกรม Exact Audio Copy |
การริปใน EAC นั้นสามารถริปแบบสร้างไฟล์ CUE ได้ ซึ่งในไฟล์นี้จะเก็บข้อมูลช่องว่างระหว่างเพลง รหัส ISRC ไว้อย่างครบถ้วน รวมถึงข้อมูลชื่อเพลงที่ดึงไว้ในก่อนหน้านี้ด้วย ตัวอย่างจากแผ่น
Doridori
|
ไฟล์ CUE เก็บข้อมูลลักษณะข้อมูลในแผ่นอย่างดี |
ผลลัพธ์ที่ได้จากการริปก็มีหลักๆ 2 แบบคือข้อมูล
ครบถ้วนและแม่นยำ กับ
พบปัญหาในการริปบางส่วน ทำให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน หลังจากริปเสร็จ เราสามารถให้โปรแกรมสร้างไฟล์รายงานผลการริปได้ ซึ่งการตรวจพบ Error เบื้องต้น ไดรฟ์จะต้องรองรับการส่งข้อมูล C2 error information ด้วยนะครับ
ยกตัวอย่างแผ่น
Doridori ไม่พบปัญหาในการริป โปรแกรมจะแจ้งว่า Accurately ripped พร้อมค่าความแม่นยำจากตัวอย่างการริปจากผู้ใช้งานอื่น ๆ ที่เคยริปแผ่นนี้มาก่อน
|
การริปเสร็จสมบูรณ์ ไม่มีปัญหา |
|
ข้อมูลถูกริปอย่างแม่นยำ |
แต่ถ้าแผ่นมีจุดที่เสียล่ะ ? แผ่น
Pokemon Symphonic Medley มีปัญหาที่เพลงที่ 5 ข้อมูลเกิดความเสียหายที่เพลงนี้ ไดรฟ์พบ Error ในแผ่น ทำให้ข้อมูลจุดนั้นไม่สามารถอ่านได้อย่างถูกต้อง โปรแกรมจะแจ้งว่า Some tracks could not be verified as accurate พร้อมค่าความแม่นยำเช่นเคย
|
เกิดปัญหาระหว่างริปในเพลงที่ 5 |
|
ข้อมูลถูกริปอย่างครบถ้วนแค่บางส่วน |
ในส่วนนี้ผมก็จะใช้กับทุกๆ แผ่นที่มาใหม่ในแต่ละรอบเพื่อทดสอบความแม่นยำของข้อมูล ยังมีโปรแกรม
CUERipper ในชุด
CUETools อีกตัวนะครับที่ใช้ได้ แต่ยังมีปัญหาการใช้งานกับไดรฟ์บางรุ่นอยู่ จึงไม่ค่อยแนะนำสักเท่าไร แต่สิ่งที่ดีกว่า EAC คือสามารถแปลงเป็นฟอร์แมต Lossless หรือ Lossy อื่น ๆ นอกจาก WAV, FLAC ได้ด้วย เช่น TAK, MP3 เป็นต้น
|
หน้าตาโปรแกรม CUERipper |
ขั้นที่สอง อ่านแผ่นเพื่อนำไปฟังในอุปกรณ์ทั้งหลาย
ในขั้นนี้ผมจะใช้โปรแกรม
iTunes ของ Apple ด้วยเหตุผลหลายประการดังนี้
- ปกติซื้อเพลงใน iTunes Store TH/JP/US มาฟังอยู่แล้ว การรวมคลังไว้ในที่เดียวกันจะง่ายที่สุด
- iTunes สามารถริปเป็น ALAC หรือ Apple Lossless ได้ และยังใช้นามสกุล M4A ทำให้สามารถกำหนดรูปแบบชื่อเพลงแบบเดียวกับเพลงจาก iTunes Store
- ลงเพลงที่เดียว Groove Music, foobar2000 ในพีซีสามารถนำเข้าคลังเพลงได้อัตโนมัติ
- สามารถนำไฟล์ M4A จาก iTunes ลงอุปกรณ์พกพาอื่น ๆ เช่น สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ ได้ทันที
เปิดโปรแกรมขึ้นมา คลิกที่รูปแผ่นซีดีที่มุมบนซ้าย จะเข้าหน้าฟังและริปทันทีครับ ตัวอย่างจากแผ่น
Together iTunes จะดึงข้อมูลชื่อเพลงจากฐานข้อมูล Gracenote ซึ่งขึ้นชื่อว่าข้อมูลเยอะมาก ทำให้สะดวกในการหาชื่อเพลง
|
หน้าตาโปรแกรม iTunes ในส่วนการฟังและริปซีดี |
เราเลือกฟอร์แมตในการริปหรือแปลงได้นะครับ ไม่จำเป็นต้องใช้ ALAC เสมอไป
|
มีฟอร์แมตให้เลือกเพียบ |
หลังจากกด Import CD เสร็จ เราจะได้ไฟล์เพลงในโฟลเดอร์เป็นชนิด M4A จะนำไปทำอะไรต่อก็ตามสบาย
|
ริปเรียบร้อย |
สิ่งที่ผมทำต่อจากนี้คือการเพิ่มไฟล์รูปปก เพราะใน iTunes ไม่มีระบบดึงรูปปกให้ ต้องหามาใส่เอง ในที่นี้ผมใช้โปรแกรม
Mp3Tag จัดการเพิ่มปกรวมถึงแก้ชื่อเพลงที่ไม่สมบูรณ์ให้เรียบร้อย ก่อนนำไฟล์ลงอุปกรณ์ทั้งหลายต่อไป
|
หน้าตาโปรแกรม Mp3Tag |
ทั้งหมดนี้คือเครื่องมือหลัก ๆ ที่ผมใช้ในการริปเพลงจากซีดีเพื่อเก็บรักษา รวมถึงนำไปฟังในอุปกรณ์ทั้งหลายนั่นเองครับ เขียนบล็อกครั้งหน้าผมจะมีอะไรมาให้อ่าน รอติดตามครับ หวังว่าคงจะไม่หายไปอีกเหมือนครั้งก่อนๆ นะ 555
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น